พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

สถานที่ท่องเที่ยวกระบี่ - คลองท่อม - พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม  - ป่าทุ่งเตียวและสระมรกต


พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

  เป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุที่ ค้นพบได้ในบริเวณ “ควนลูกปัด” ซึ่งอยู่ด้านหลังวัดคลองท่อม และเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของประเทศ จากการสำรวจโดยกรมศิลปากร พบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น เหรียญโลหะ เศษภาชนะดินเผา เครื่องประดับทำจากหิน แก้ว สำริด ทองคำ ฯลฯ เมื่อไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะได้ชมความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของเมืองกระบี่ กระบี่

ที่ตั้งพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

   อยู่ในวัดคลองท่อม ถ. เพชรเกษม ต. คลองท่อมใต้ อ. คลองท่อม ห่างจากที่ว่าการ อ. คลองท่อมประมาณ 1 กม.

รถยนต์ส่วนตัวพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

   จาก อ. คลองท่อม ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ไปทาง จ. ตรัง ผ่านตลาด สภ.อ. คลองท่อมไป 600 ม. พบวัดคลองท่อมอยู่ทางซ้ายมือ

รถประจำทางพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

   ขึ้นรถสายกระบี่-หัวหิน-เกาะลันเตา

ประวัติพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

   ในปี พ.ศ. 2523 กรมศิลปากรได้ขุดค้นเนินดินที่หมู่ 2 บ้านควนลูกปัด ต. คลองท่อมใต้ พบลูกปัดโบราณ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้อีกมากมาย จึงสันนิษฐานว่าในอดีตบริเวณนี้น่าจะเป็นแหล่งชุมชนหรือเป็นเมืองท่าที่ สำคัญแห่งหนึ่งในเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียใต้กับเเชียอาคเนย์ เพราะโบราณวัตถุบางชิ้นเป็นของจากดินแดนอันห่างไกล ทั้งจากอินเดีย โรมัน เปอร์เซีย และอาหรับ อีกทั้งน่าจะเคยเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมลูกปัดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในดิน แดนแถบนี้ ต่อมาโบราณวัตถุเหล่านี้ถูกขุดขโมยเรื่อยมาจนสูญหายไปเป็นจำนวนมาก พระครูอาทรสังวรกิจ เจ้าอาวาสวัดคลองท่อมเกรงว่าสมบัติของชาติจะถูกทำลายโดยไม่มีเหลือ ราวปี พ.ศ. 2525 จึงเริ่มซื้อรวบรวมลูกปัดและโบราณวัตถุจากชาวบ้านมาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์

สิ่งที่น่าสนใจพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

   จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนชั้นเหล็ก ของส่วนใหญ่เป็นเศษโบราณวัตถุ เช่น เศษแก้ว เศษถ้วยโถโอชาม นอกจากนี้ยังมีสิ่งของขนาดใหญ่ เช่น ครกหิน หินบดยา หินลับ และเครื่องมือเครื่องใช้สมัยก่อน เช่น ขวานหิน

ชั้นบนของพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

   แบ่งเป็นปีกซ้ายและปีกขวา ปีกขวาเป็นของจำพวก กำไล แหวน ขวานหินขนาดและรูปแบบต่างๆ แสดงอยู่ในตู้กระจก มีป้ายเล็กๆ บอกชื่อสิ่งของ
   บริเวณปีกซ้าย เป็นส่วนที่จัดแสดงได้น่าสนใจและเป็นระบบกว่าส่วนอื่น ของชิ้นสำคัญจะนำมาแสดงที่ห้องนี้ โดยจัดวางในตู้กระจกติดไฟอย่างดี มองเห็นรายละเอียดที่ปรากฏบนโบราณวัตถุแต่ละชิ้นได้ชัดเจน มีคำอธิบายประกอบ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เช่น ลูกปัดหน้าคน สันนิษฐานว่าเป็นรูป “พระสุริยะเทพ” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแถบเมดิเตอร์เรเนียน แก้วหลอมและเศษแก้วหลายสี บางก้อนมีเศษลูกปัดติดอยู่ในเนื้อแก้ว จึงสันนิษฐานว่าควนลูกปัดเคยเป็นแหล่งผลิตแก้วและลูกปัด ตราประทับที่จารึกด้วยอักษรปัลลวะ (ภาษาอินเดียใต้) อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10-12 ลูกปัดหินหลายสีหลายขนาด ลุกปัดทองคำ และเครื่องประดับจำนวนมาก เช่น แหวนทองคำ กำไลเงิน ตุ้มหูสัมฤทธิ์ ฯลฯ