วัดไตรมิตร

วัด สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพคือ วัดไตรมิตร ที่ผู้คนนิยมไปสักการะพระพุทธรูปทองคำกัน  ตอนนี้ทางวัดได้สร้างพระมหามณฑปหลังใหม่สวยงามโอ่อ่าสำหรับประดิษฐานองค์ พระ  ที่สำคัญด้านในยังมีพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าความเป็นมาทั้งของพระทองคำและชุมชน ชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในย่านเยาวราชนี้  มาไหว้พระชื่นใจแล้วยังได้มาชื่นชมกับพิพิธภัณฑ์ดี ๆ อีกแห่งของเมืองกรุง โดยเฉพาะใครที่มีเชื้อสายจีนต้องบอกว่าไม่ควรพลาดมาชมกัน





พระมหามณฑป วัดไตรมิตร
นี่ไงพระมหามณฑปหลังใหม่ของวัดไตรมิตรที่เพิ่งสร้างเสร็จและเปิดเมื่อต้น ปี 2553 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา
เป็นฝีมือการออกแบบอีกชิ้นของ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติและอดีตอธิบดีกรมศิลปากร   หลายคนคงคุ้นหูกับชื่อท่านกันดี เพราะท่านเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระเมรุที่ใช้ถวายพระเพลิงพระ บรมศพสมเด็จย่า และพระศพของสมเด็จ กรมหลวงฯ มาแล้วด้วย





มาถึงวัดต้องชวนไปกราบพระประธานที่อุโบสถก่อน
วัดไตรมิตรแต่เดิมมีชื่อว่าวัดสามจีน จากชื่อวัดก็เชื่อกันว่าเดิมมีคนจีน 3 คนที่เป็นเพื่อนกันได้ร่วมกันสร้างวัดไว้  พอมามีการบูรณะวัดขึ้นใหม่ตอนหลังก็เลยเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดไตรมิตรในปี พ.ศ. 2482





จุดธูปเทียนบูชากันได้ที่ด้านนอก





แล้วค่อยเข้าไปกราบพระประธานกันด้านใน





พระพุทธทศพลญาณ
พระประธานชื่อพระพุทธทศพลญาณ





ขึ้นไปที่พระมหามณฑปกันต่อ
ชั้น 4 ที่เป็นชั้นบนสุดจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ หรือที่เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
ส่วนที่ชั้น 3 จะเป็น ห้องจัดแสดงนิทรรศการหลวงพ่อทองคำ  และชั้น 2 เป็นศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช





ค่าเข้่าชม วัดไตรมิตร
ใครพาเพื่อนต่างชาติมาต้องไปซื้อบัตรกันก่อน
ถ้าขึ้นไปชั้นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำอย่างเดียว 40 บาท  แต่ถ้าชมห้องจัดแสดงที่ชั้น 2 และชั้น 3 ด้วยก็จ่ายเพิ่มอีก 100 บาทเป็น 140 บาท





มาซื้อบัตรได้ที่ศาลาหลังนี้





ศาลาอยู่ด้านข้างกับพระมหามณฑป





ส่วนถ้าใครพาคุณพ่อคุณแม่ อากง อาม่า มาไหว้พระ  เห็นบันไดทางขึ้นแล้วก็นึกไม่ออกว่าจะพาผู้สูงอายุขึ้นไปถึงองค์พระด้านบนได้ยังไง





เขาเตรียมลิฟท์ไว้ให้แล้ว  แต่ลิฟท์นี้สงวนให้ใช้เฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้พิการเท่านั้น





ทางเข้าไปที่ลิฟท์จะต้องเข้าประตูที่อยู่ตรงข้ามกับศาลาขายบัตรเข้าชมตรงนี้ล่ะ





มากราบพระกัน
พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย





ส่วนประวัติความเป็นมาเป็นยังไง  กราบพระกันแล้วก็เดินลงมาที่ชั้น 3 เขามีนิทรรศการหลวงพ่อทองคำจัดแสดงเอาไว้อย่างสวยงามน่าดูชม





ก่อนเข้าไปต้องถอดรองเท้าใส่ถุงผ้าที่เตรียมไว้ให้ แล้วก็หิ้วติดมือเข้าไปด้วยเลย
ถ้าขี้เกียจหิ้ววางทิ้งไว้ข้างนอก เจ้าหน้าที่เขาเตือนว่าหายกันไปหลายรายแล้ว





มาลงทะเบียนเข้าชมที่โถงด้านหน้ากันก่อน
ใครมีกล้องมาด้วยก็เก็บภาพกันได้เต็มที่ เพียงแต่มีข้อห้ามไม่ให้ใช้แฟลชตอนถ่ายเท่านั้น





ส่วนแรกจะเป็นห้องฉายภาพยนต์ที่จะฉายวิดีทัศน์สั้น ๆ บอกเล่าเรื่องราวที่มาของพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย และพระปางมารวิชัยว่าสร้างจากพุทธประวัติช่วงไหน
ตอนไปถึงอาจจะต้องนั่งรอรอบฉายสักนิดก่อนจะได้เข้าชม





แล้วมาดูขั้นตอนการหล่อพระพุทธรูปกันต่อ





หลัก ๆ ก็คือ ใช้ดินมาปั้นหุ่นพระเป็นแกนด้านในขึ้นมาก่อน  แล้วค่อยเอาขี้ผึ้งมาพอกทับ  ตกแต่งลวดลายให้เหมือนกันพระพุทธรูปที่เราเห็นกันนี่ล่ะ
จากนั้นก็ค่อย ๆ พอกดินทับลงไป  เสร็จแล้วเท่ากับเราก็จะมีขี้ผึ้งที่มีลวดลายองค์พระอยู่ระหว่างกลางแบบพิมพ์ดิน
พอเผาให้ขี้ผึ้งละลายออกมาตามช่องที่เตรียมไว้แล้ว ก็หลอมทองเทลงไปในช่องว่างแทนที่ขี้ผึ้ง แกะแบบพิมพ์ออกแล้วตกแต่งรายละเอียดต่อไป
ที่จริงแต่ละขั้นจะมีรายละเอียดกว่านี้  ใครสนใจก็ค่อย ๆ ไปอ่านคำอธิบายกันได้





ก่อนมาเป็นพระพุทธรูปที่งดงาม





แต่ทีแรกที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ไม่มีใครรู้ว่าเป็นพระทองคำ  เพราะองค์พระถูกพอกเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นอยู่ที่วัดพระยาไกร





พอดีว่าวัดพระยาไกรมากลายเป็นวัดร้างไปในสมัยรัชกาลที่ 5  พระเถระเจ้าคณะที่ดูแลวัดนี้ก็เลยสั่งให้ย้ายพระมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตร มิตร





พอมาถึงวัดไตรมิตรแล้ว ทีแรกมาก็เชิญพระมาพักไว้ในเพิงสังกะสีอยู่เกือบ 20 ปีกว่าวิหารที่จะใช้ประดิษฐานพระจะสร้างเสร็จ  ตอนที่ย้ายองค์พระเข้าไปในวิหารนี่ล่ะ  เชือกที่ยกเกิดขาด องค์พระตกลงมาจนปูนกระเทาะถึงได้เห็นว่าเนื้อในเป็นทองคำ





ตอนนั้นเป็นปี พ.ศ. 2498  พอผู้คนรู้ข่าวพระทองคำองค์ใหญ่ หน้าตักกว้างถึง 3.01 ม. สูง 3.91 ม. ก็แห่แหนมานมัสการกันล้นหลาม จนเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์





และหนังสือกินเนสบุ๊คออฟเรคคอร์ดที่รวบรวมสารพัดที่สุดของโลก





ก็ระบุว่าพระพุทธรูปทองคำที่วัดไตรมิตรนี้  เป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก





ถัดมามีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมาก  ข้างกันมีฉายวิดีทัศน์การก่อสร้างมหามณฑปนี้ตั้งแต่เริ่มจนเสร็จ





ยิ่งพอได้มาเห็นช่างเขียนทำงาน ยิ่งรู้สึกเลยว่างานประณีตมาก ๆ







ปิดท้ายด้วยร้านขายของที่ระลึก





ลงมาที่ชั้น 2 มีศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชให้ชมกันต่อ
ข้างในมีเรื่องราวของการอพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยของชาวจีน  ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าแผ่นดินไทยจนสามารถสร้าง ฐานะความเป็นอยู่ที่มั่งคั่ง  ไปจนถึงบรรยากาศของเยาวราชในอดีต





มาถึงก็ลงทะเบียนเข้าชมที่เคาน์เตอร์เสร็จแล้วก็มานั่งรอกันก่อน  เจ้าหน้าที่เขาจะเปิดให้เข้าชมเป็นรอบ ๆ อีกเหมือนกัน





เพราะว่าห้องแรกจะฉายวิดีทัศน์สั้นให้ชมกันเป็นรอบ ๆ ก่อน





ห้องฉายมาแนวแปลก  จัดโต๊ะเก้าอี้จริง ๆ ตั้งไว้กลางเวทีที่พอเริ่มฉายก็มีภาพอากงกับหลานชายมานั่งคุยกันอยู่โต๊ะ
เรื่องราวบอกเล่าถึงความผูกพันของชาวจีนที่มีต่อพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่ รุ่นเหลากงจนมาถึงรุ่นหลาน  และยังถ่ายทอดบอกเล่าถึงความยากลำบากของคนรุ่นที่เพิ่งอพยพย้ายถิ่นเข้ามา ในเมืองไทย ที่ต้องใช้ทั้งความอดทนและขยันหมั่นเพียรจนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา มีฐานะที่มั่งคง  ให้ลูกหลานคนรุ่นหลังที่เกิดมาก็มีชีัวิตที่สุขสบาย ได้รับรู้ถึงความเป็นมาของบรรพชน
ฟังแล้วดูเหมือนอาป้าอาม้าจะอยากจับลูกหลานตัวดี มานั่งฟังอาเหลากงสอนหลานตรงนี้ไปด้วย





ดูจบแล้ว  ถัดมาก็จะได้เจอเรื่องราวของชุมชนจีนในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น





ยุคนั้นเป็นยุคที่ไทยเราทำการค้าด้วยเรือสำเภากับเมืองจีนในลักษณะของ เครื่องบรรณาการ  แล้วก็มีคนจีนนี่ล่ะเป็นกำลังสำคัญทั้งเป็นนายเรือและลูกเรือในสำเภาที่ออก ไปค้าขาย





ตั้งแต่ยุคนั้นแล้วที่มีการอพยพของคนจีนมาเป็นระยะ ๆ  เขาก็เลยจำลองบรรยากาศใต้ท้องเรือสำเภาที่ชาวจีนอพยพอาศัยเดินทางฝ่าคลื่น ลมเข้ามา
เขาออกแบบให้เราต้องเงยหน้าขึ้นไปชมภาพบนจอ  ที่ฉายพร้อมเสียงประกอบที่ให้บรรยากาศเหมือนกับเราได้ร่วมเรือสำเภาเข้ามา ขึ้นฝั่งที่สำเพ็งไปกับเขาด้วย





เพื่อให้อินอีกนิด  พอเดินผ่านเรือออกมาก็จะเจอภาพวิวบนท่าเรือที่มองไปเห็นปรางค์วัดอรุณฯ อยู่ลิบ ๆ  อารมณ์เหมือนได้เป็น "ซิงตึ้ง" เพิ่งขึ้นฝั่งสยามยังไงยังงั้นเลย





หุ่นจำลองวิถีชีวิตของชาวจีนที่อพยพมาใหม่  ที่ต้องเริ่มด้วยการทำงานใช้แรงงาน





บ้างก็เปิดร้านค้า หรือแม้แต่หาบจุ่ยก้วยออกเร่ขาย





อาหารหลักของคนจีนก็คือข้าวต้มกับกับข้าว  ที่เรารู้จักกันในชื่อ ข้าวต้มกุ๋ย นี่ล่ะ
ถ้าไปเดินดูเองก็ลองสังเกตด้วยว่า คนจีนเขามีท่านั่งกินที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างด้วย





ปู๊ด...ปู๊ด......ปู๊ด........
ห้องถัดมามีเสียงหวูดของเรือกลไฟดังเป็นระยะ  ห้องนี้บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ลงมาที่เริ่มมีเรือกลไฟใช้งานกัน





รวมถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทั้งของไทยเราและในเมืองจีนที่เกิดขึ้นในแต่ละรัชกาล





ที่มีผลให้คลื่นผู้อพยพชาวจีนเพิ่มทวีขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคนั้น





หลังจากที่รัฐบาลสยามจำต้องเปิดการค้าให้มีความเสรีมาขึ้น  จากข้อตกลงตามสนธิสัญญาที่ทำกับชาติตะวันตกหลายต่อหลายชาติในยุคล่า อาณานิคม  และคนจีนนี่เองที่เริ่มเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ ผ่านความเชี่ยวชาญทางการค้าจนสามารถยึดครองธุรกิจหลากหลายอย่างแทนที่ฝรั่ง ในเวลาต่อมา





ถนนเยาวราชถือเป็นโฉมหน้าใหม่ที่สำคัญของชุนชนชาวจีน  นับตั้งแต่ ร.5 ได้โปรดฯ ให้ตัดถนนสายนี้ขึ้นระหว่าง ถ.สำเพ็ง กับ ถ.เจริญกรุง  แม้จนมาถึงทุกวันนี้เยาวราชก็ยังเป็นไชน่าทาวน์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกเลย ก็ว่าได้





แบบจำลองของถนนเยาวราชที่คดโค้งไปมา  เนื่องจาก ร.5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ถนนที่ตัดใหม่นี้สร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าของที่ เดิมให้น้อยที่สุด





ฉากในห้องจัดแสดงส่วนนี้ เขาทำเก๋ด้วยการเปลี่ยนฉากเป็นกลางวันกลางคืนสลับกัน





แล้วรอบห้องยังแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุนชนชาวจีนในอดีตของย่านเยาวราชนี้กันไว้ให้ระลึกถึง





อย่างเช่นบรรยากาศในตลาด





หรือโรงงิ้วที่เคยมีกันอยู่หลายต่อหลายโรงในย่านเยาวราชนี้
ความที่ในห้องจะหมุนเวียนจากกลางวันเป็นกลางคืน  ช่วงค่ำ ๆ โรงงิ้วที่เคยเงียบนิ่งก็จะมีงิ้วมาเล่นกันเสียงดังครึกครื้นเรียกคนมามุงดู กันได้เยอะเลย





วัดมังกรกมลาวาสที่ด้านหน้าเคยมีแม่ค้าแม่ขายเอาของมาวางขายเป็นตลาดย่อม ๆ กัน





ร้านขายทองเคยจัดดนตรีมาบรรเลงสร้างความคึกคักในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างเช่น ตรุษจีน





เยาวราชที่เรามองเห็นอาจเป็นเพียงตึกร้านสองข้างทาง  แต่เราจะสัมผัสความเป็นเยาวราชที่แท้จริงได้ก็ด้วยผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่
ที่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นย่านไชน่าทาวน์หรือชุมชนคนจีน  แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับมีผู้คนหลายเชื้อชาติต่างศาสนาอยู่อาศัยร่วมกัน





ก่อนจะย้อนกลับไปทำความรู้จักกับเจ้าสัวผู้มั่งคั่งชาวจีนหลายต่อหลาย ท่าน  ที่ความร่ำรวยไม่ได้ทำให้ชื่อของท่านถูกจดจำผ่านกาลเวลา  หากแต่เป็นคุณธรรมความดีที่ท่านได้ทำและมอบไว้ให้กับสังคม
แต่ถึงจะมีตัวอย่างดี ๆ อย่างนี้  ก็ยังมีคนรวยในยุคสมัยของเราเลือกจะถูกจดจำในความไร้จริยธรรมแทน





ห้องถัดมา  มีรูปใบโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่บนเพดาน  สื่อความหมายถึง ความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของชาวจีนที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของ พระมหากษัตริย์ไทย





ห้องนี้ก็เลยจัดแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ชาวไทยเชื้อสายจีนในย่าน เยาวราชเคยได้รับจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ที่ได้เสด็จฯ มาเยี่ยมชุมชนในเยาวราช





และในห้องสุดท้ายเป็นบรรยากาศสีสันของเยาวราชในยุคปัจจุบัน





โดยเฉพาะความเป็นย่านของอร่อยที่ถ้าใครอยากรู้ว่าร้านไหนอยู่ตรงไหนในเยาวราช ก็มาจิ้มเครื่องตรงนี้ก็จะมีแผนที่บอกทางกันไว้ให้